Ep 3 Part2 : Visual Studio 2022

การพัฒนาโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์จำเป็นต้องมีเครื่องมือและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ในปัจจุบันมีเครื่องมือและสิ่งแวดล้อมให้เลือกใช้มากมาย แต่เครื่องมือที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ Visual Studio ของบริษัทไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็น IDE (Integrated Development Environment) ที่ครบวงจรและได้รับความนิยมอย่างมากจากนักพัฒนา Microsoft เนื่องจากมีฟีเจอร์ที่หลากหลาย รองรับภาษาโปรแกรมมากมาย และมีเครื่องมือสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันประเภทต่างๆ เช่น บรรณาธิการโค้ด (Editor) คอมไพเลอร์ ดีบักเกอร์ (Debugger) และเครื่องมือสร้างโปรแกรมติดตั้ง (Installer)

Visual Studio เป็น IDE หรือ สภาพแวดล้อมการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบครบวงจรที่พัฒนาขึ้นโดยไมโครซอฟท์ เครื่องมือนี้ช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างแอปพลิเคชันได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเดสก์ท็อป เว็บแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันมือถือ หรือบริการบนคลาวด์

Visual Studio เริ่มต้นจากการเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาแอปพลิเคชัน Windows Forms ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟซแบบกราฟิกที่นิยมใช้ในช่วงยุคแรกๆ ของ Windows และได้พัฒนาและรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ASP.NET สำหรับเว็บแอปพลิเคชัน, Windows Presentation Foundation (WPF) สำหรับแอปพลิเคชันเดสก์ท็อปที่มีกราฟิกที่สวยงาม, Universal Windows Platform (UWP) สำหรับแอปพลิเคชันบน Windows 10 และล่าสุดคือ .NET MAUI สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์ม

นอกนี้ตัว Visual Studio รองรับภาษา .NET เช่น C# และ VB.NET แล้ว Visual Studio ยังรองรับภาษาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น C++, Python, JavaScript และ TypeScript พร้อมที่ช่วยให้นักพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

  • IntelliSense: ช่วยแนะนำโค้ดและเติมโค้ดให้โดยอัตโนมัติ
  • Debugger: ช่วยในการตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดในโค้ด
  • Git Integration: รองรับการทำงานกับระบบควบคุมเวอร์ชัน Git ได้อย่างง่ายดาย
  • Azure Integration: เชื่อมต่อกับบริการบนคลาวด์ของ Microsoft ได้อย่างราบรื่น

Visual Studio 2022 มีหลายรุ่นให้เลือกใช้ แต่ละรุ่นจะมีฟีเจอร์และความสามารถที่แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้รุ่นที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักพัฒนา ทั้งในแง่ของขนาดของโครงการ งบประมาณ และความซับซ้อนของงานที่ทำ

Visual Studio Community

เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้พัฒนาโอเพนซอร์ส และองค์กรขนาดเล็ก เนื่องจากมีฟีเจอร์ครอบคลุมพื้นฐานสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น C/C++, C#, F#, VB.NET, Python, JavaScript เป็นต้น แต่มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถใช้สำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในองค์กรขนาดใหญ่ได้ เป็นต้น

Visual Studio Professional

เหมาะสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพ ทีมงานขนาดเล็ก และองค์กรที่ต้องการเครื่องมือในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเครื่องมือมีฟีเจอร์ที่ครบครันกว่า Community Edition เช่น เครื่องมือสำหรับการทดสอบ การดีบัก และการวิเคราะห์โค้ด เป็นต้น

Visual Studio Enterprise

เหมาะสำหรับทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ องค์กรที่ต้องการความสามารถในการทำงานร่วมกัน และโครงการที่ซับซ้อน พร้อมทั้งฟีเจอร์ที่ครอบคลุมทุกด้านของการพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น เครื่องมือสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ การพัฒนาคลาวด์ และการทำงานร่วมกันแบบทีม เป็นต้น

ด้วยเนื่องจาก Visual Studio Community Edition มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ และสามารถใช้งานได้ฟรีจึงเหมาะสมกับการใช้ในการเรียนการสอน โดยคุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานต้องมีคุณสมบัติขั้นต่ำดังนี้

  1. ระบบปฏิบัติการ Windows 11 หรือ Windows 10 แบบ 64 บิต เวอร์ชัน 1909 ขึ้นไป
  2. โปรเซสเซอร์แบบ x86 ที่รองรับการทำงานแบบ 64 บิต หรือ ARM64 มีความเร็ว 1.8 GHz หรือเร็วกว่า
  3. หน่วยความจำ RAM ความจุอย่างน้อย 4 GB
  4. พื้นที่ว่างบนฮาร์ดดิสก์อย่างน้อย 20 GB
  5. การแสดงผลที่รองรับการแสดงผลด้วยความละเอียดแบบ WXGA (1366 x 768) เป็นต้นต่ำ โดยแนะนำให้เลือกใช้การแสดงผลระดับ FHD (1920 x 1080)
  6. การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความจำเป็นสำหรับการติดตั้งและการใช้งานบางฟีเจอร์

การเขียนโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์มีขั้นตอนการเขียนโปรแกรมประกอบด้วยการสร้างโครงงาน (Project) หรือโซลูชัน (Solution) หลังจากนั้นต้องเลือกแพลตฟอร์มที่ต้องการพัฒนา สุดท้ายตัว Visual Studio จะสร้างโฟลเดอร์และไฟล์ต่าง ๆ สำหรับใช้ในการแปลภาษาให้กับนักพัฒนาใช้เป็นต้นแบบในการเพิ่มหรือแก้ไขโค้ดหรือการตั้งค่าของโครงงาน โดยตัวอย่างการสร้างโครงงานเพื่อสั่งงานแสดงข้อความ “สวัสดี” มีขั้นตอนดังนี้

  1. เปิด Visual Studio 2022:
    • คลิกที่ไอคอน Visual Studio บนเดสก์ท็อป หรือค้นหาจากเมนู Start
  2. สร้างโครงการใหม่:
    • คลิกที่ Create a new project. ดังภาพที่ 1-1
    • เลือก Console App (.NET Framework) หรือ Console App (.NET) แล้วคลิก Next. ดังภาพที่ 1-2
    • ตั้งชื่อโครงการและเลือกตำแหน่งที่จะบันทึก จากนั้นคลิก Create. ดังภาพที่ 1-3
  3. เขียนโค้ด:
    • ในหน้าต่าง code editor จะมีไฟล์ชื่อ Program.cs เปิดอยู่โดยอัตโนมัติ
    • ลบโค้ดที่มีอยู่เดิมออก
    • เขียนโค้ดตามตัวอย่างโปรแกรมด้านล่าง
  4. รันโปรแกรม:
    • คลิกปุ่ม Start (รูปสามเหลี่ยมสีเขียว) บนเมนู Debug เพื่อรันโปรแกรม ดังภาพที่ 1-4
    • จะปรากฏหน้าต่าง Console และแสดงข้อความ “สวัสดี!”
ภาพที่ 1-1 สร้างโครงงาน
ภาพที่ 1-2 เลือกประเภทโครงงาน
ภาพที่ 1-3 ตั้งชื่อโครงงาน
ภาพที่ 1-4 ปุ่ม Start

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยในขั้นตอนที่ 2.b เป็นการเลือกใช้ .NET Framework ซึ่งเป็นรุ่น 4.x แต่ถ้าต้องการใช้รุ่นใหม่กว่าจะต้องเลือกเป็น Console App ดังภาพที่ 1-5 หลังจากนั้นตั้งชื่อโครงการดังภาพที่ 1-6 สุดท้ายเลือกใช้รุ่นของ .NET เป็นรุ่นที่ต้องการ ดังภาพที่ 1-7 ที่เป็น .NET 8 โดยโค้ดของขั้นตอนที่ 3 จะเปลี่ยนเป็นตามโปรแกรมตัวอย่าง (สวัสดี2)

ภาพที่ 1-5 เลือกประเภทโครงงาน Console App
ภาพที่ 1-6 ตั้งชื่อโครงงาน HelloWordl2
ภาพที่ 1-7 เลือกรุ่นของ .NET

ตัวอย่าง 1  โปรแกรมสวัสดี

using System;
using System.Collections.Generic;
using System.Linq;
using System.Text;
using System.Threading.Tasks;

namespace HelloWorld
{
    internal class Program
    {
        static void Main(string[] args)
        {
            Console.WriteLine("สวัสดี");
        }
    }
}

ตัวอย่างโปรแกรมสวัสดี2

Console.WriteLine("สวัสดี");

จากตัวอย่างโปรแกรมสวัสดี และสวัสดี2 จะพบว่าโครงสร้างของการเขียนมีความแตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วใน .NET รุ่นใหม่ได้ทำการลดความซับซ้อนในการเขียนโค้ดทำให้ผู้เริ่มต้นใช้สามารถสามารถเขียนโค้ดในส่วนของโปรแกรมหลักได้โดยไม่ต้องเขียนโครงสร้างทั้งหมดเหมือนโปรแกรมสวัสดี

จากส่วนของโปรแกรมหลักมีการเรียกใช้คำสั่ง Console.WriteLine() เพื่อนำออกข้อความ “สวัสดี” โดยคำสั่งดังกล่าวใช้สำหรับแสดงข้อมูลที่หน้าจอโหมดข้อความทำให้อาจจะไม่สามารถแสดงภาษาไทยได้ถูกต้อง

ในภาษา C# โดยเฉพาะเมื่อทำงานกับ Console Application คำสั่งที่ใช้ในการรับและแสดงผลข้อมูลนั้นสำคัญมาก โดยส่วนใหญ่เราจะใช้คลาส Console ที่อยู่ใน namespace System เพื่อทำงานเหล่านี้

คำสั่งสำหรับการแสดงผล Console.WriteLine()

ใช้สำหรับแสดงข้อความหรือค่าของตัวแปรแล้วขึ้นบรรทัดใหม่ โดยตัวอย่างแสดงข้อความ “สวัสดี” ในบรรทัดแรก และแสดงข้อมูลจากตัวแปร programmingLanguage ในบรรทัดถัดมาสามารถเขียนได้ดังนี้

Console.WriteLine("สวัสดี");
string programmingLanguage = "C#";
Console.WriteLine("ฉันคือภาษา" + programmingLanguage);

ตัวอย่างแสดงค่าจากตัวแปร x และ y กับค่าคงที่ MY_PI

var x = 100;
var y = -50.2;
const float my_pi = 3.1415f;
Console.WriteLine("x = " + x);
Console.WriteLine("y = " + y);
Console.WriteLine("my_pi = " + my_pi);

คำสั่งสำหรับการแสดงผล  Console.Write()

ใช้สำหรับแสดงข้อความหรือค่าของตัวแปรโดยไม่ขึ้นบรรทัดใหม่ ตัวอย่างการแสดงข้อความ “สวัสดี” จำนวน 2 บรรทัดโดยใช้การแสดง “\n” เพื่อสั่งให้ขึ้นบรรทัดใหม่เป็นดังนี้

Console.Write("สวัสดี\nสวัสดี\n");

คำสั่งสำหรับการรับค่า  Console.ReadLine()

ใช้สำหรับรับค่าที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามาทางคีย์บอร์ด ค่าที่ได้จะเป็นชนิดข้อมูล string เสมอ โดยตัวอย่างโปรแกรมสำหรับรับชื่อจากผู้ใช้โปรแกรมแล้วแสดงข้อความทักทายกลับ สามารถเขียนเป็นโปรแกรมได้ดังนี้

Console.Write("สวัสดีครับชื่ออะไรเอ่ย ?");
String user_name = Console.ReadLine();
Console.WriteLine("สวัสดี"+user_name);

ตัวอย่างรับค่าชื่อกับนามสกุลเพื่อนำมาแสดงผล

string firstName, lastName;
Console.WriteLine("Enter your first name : ");
firstName = Console.ReadLine();
Console.WriteLine("Enter your last name : ");
lastName = Console.ReadLine();
Console.WriteLine( "Hello, " + firstName + " " + lastName + "!" );
Console.ReadLine();

จากบทความนี้ผู้อ่านได้ทดลองใช้เครื่องมือ Visual Studio 2022 สำหรับสร้างโครงงานและเขียนโค้ดโปรแกรมภาษา C# ที่แตกต่างไปจากบทความในตอนก่อนหน้านี้ที่สร้างโครงงานจาก Unity 6 แล้วใช้ Visual Studio เป็นเครื่องมือเขียนโค้ด จะพบว่ามีโครงสร้างของคลาสที่แตกต่างกัน แต่ผู้อ่านสามารถคำสั่งของ C# ร่วมกันได้ทั้งกรณีของ Unity และของ C# แบบ Desktop หรือ Console ทำให้สามารถเขียนโปรแกรมทดสอบการประมวลผลก่อนนำไปประยุกต์ใช้กับ Unity หรือโยกโค้ดการทำงานจาก Unity มาทดสอบแยกเพื่อหาข้อผิดพลาดหรือปรับปรุงประสิทธิภาพได้สะดวกขึน

สุดท้ายขอให้สนุกกับการเขียนเกมครับ

(C) 2024, โดย จารุต บุศราทิจ
DcG.IT@PBRU

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *